ปชป.ปูนบำเหน็จนาม ยิ้มแย้มนั่งกุนซือ รมว.ยธ. คนในพรรคค้านเสียงขรม หวั่นเป็นเป้านิ่งให้ถูกโจมตี

ปชป.ปูนบำเหน็จนาม ยิ้มแย้มนั่งกุนซือ รมว.ยธ. คนในพรรคค้านเสียงขรม หวั่นเป็นเป้านิ่งให้ถูกโจมตี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ปชป.ตกรางวัลนาม ยิ้มแย้มอดีตประธาน คตส. เชิญนั่งเก้าอี้ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม สุเทพ ส่งซิกให้ พีระพันธ์ ทาบทาม เจ้าตัวตอบรับทันที พร้อมขอรถ-คนขับประจำตำแหน่ง อ้างมีปัญหาสุขภาพ คนในพรรคค้านเสียงขรม หวั่นเปิดช่องให้ฝ่ายค้านโจมตี เคยมีข้อครหาช่วยอภิรักษ์หลุดคดีรถดับเพลิง แถมยังเป็นคนทำสำนวนยุบ ทรท.

รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์แจ้งว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่6 มกราคม จะมีนำรายชื่อที่ปรึกษาและเลขานุการรัฐมนตรีบางส่วนเข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่อพิจารณา อาทิ นางอัญชลี วานิช เทพบุตร เป็นรองเลขานุการนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี), น.พ.พิทักษ์ ฐานบัญชา อดีตผู้สมัครส.ส.เขต 5 กทม. เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายวิทยา แก้วภราดัย), นายเอกชัย ทรงอำนาจเจริญ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายวิฑูรย์ นามบุตร), นายก้องศักดิ์ ยอดมณี เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกรณ์ จาติกวณิชย์), นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ลูกเขยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม(นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค)

ข่าวแจ้งว่า ในส่วนของรัฐมนตรีหน้าใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ทุกคน จะมีผู้บริหารพรรคโดยเฉพาะนายสุเทพ เทือกสุบรรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนคัดสรรบุคคลที่จะเข้ามานั่งในตำแหน่งที่ปรึกษาและเลขานุการรัฐมนตรี ซึ่งมีหลายคนที่เมื่อถูกเสนอชื่อในที่ประชุม ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากบรรดารัฐมนตรี อาทิ นายประพันธ์ คูณมี นายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ และนายสำราญ รอดเพชร อดีตผู้สครส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เพราะรัฐมนตรีหลายคนหวั่นว่า จะมีภาพของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา เช่นเดียวกับการเชิญนายนาม ยิ้มแย้ม เข้ามาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรนีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ถูกแกนนำพรรคหลายคนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะแกนนำพรรคหลายคนหวั่นว่าจะกลายเป็นเป้าถูกโจมตีจากฝั่งตรงข้าม ที่สำคัญก่อนหน้านี้นายนาม เคยถูกกล่าวหาว่าพยายามช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์จากการทำสำนวนคดียุบพรรคไทยรักไทย และคดีรถดับเพลิง ที่มีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตกเป็นจำเลย

ข่าวแจ้งว่า การทาบทาม นายนาม เข้ามานั่งเป็นที่ปรึกษาดังกล่าว นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รับคำเสนอแนะจากของนายสุเทพ โดยให้เหตุผลว่า นายนาม มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับข้อกฏหมาย อีกทั้งยังมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับคดีทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลายคดี น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของกระทรวงยุติธรรม จากนั้น นายพีระพันธุ์ ได้ต่อโทรศัพท์ไปทาบทาม และได้รับการตอบรับจากนายนาม เป็นที่เรียบร้อย โดยมีข้อแม้ว่า จะต้องมีรถประจำตำแหน่งพร้อมคนขับ เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องสุขภาพ

อนึ่ง นายนาม ยิ้มแย้ม เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหามีกระบวนการว่าจ้างพรรคการเมืองให้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนายนาม มีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทยและให้ดำเนินคดีกับคณะกรรมการบริหารพรรค ในขณะนั้นบรรดาสมาชิกพรรคไทยรักไทยกล่าวหานายนามว่า มีความสนิทสนมกัายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แต่นายนามออกมาปฏิเสธ กระทั่งวันที่ 30พฤษภาคม 2540 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย

เมื่อเกิดเหตุรัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปัตย์อันมีพระมห กษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยมีนายนาม ยิ้มเย้ม เป็นประธาน คตส.หยิบคดีการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร (กทม.) มูลค่า 6,700ล้านบาท ขึ้นมาสอบสวนหาผู้กระทำผิด โดยให้นายประเสริฐ บุญศรี เป็นประธานอนุกรรมการฯ แต่ปรากฎว่าคตส.ไม่เห็นชอบกับสำนวนการสอบสวนของอนุฯคตส.ถึง 3 ครั้ง เป็นเหตุให้นายประเสริฐ บุญศรี ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ว่ากันว่า สาเหตุที่คตส.ชุดใหม่ตีกลับสำนวนคดีรถดับเพลิงฯ เพราะอนุฯ คตส.ไม่สามารถให้เหตุผลว่า ทำไมจึงไม่มีชื่อนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น อยู่ในกลุ่มผู้ร่วมกระทำผิด

ต่อมานายนาม ยิ้มแย้ม ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานอนุฯ คตส.คดีรถและเรือดับเพลิงฯ ปรากฎว่า ผลการสอบสวนคดีนี้ยืดเยื้อ จนกระทั่งคตส.หมดวาระลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 สำนวนคดีรถและเรือดับเพลิงฯ ส่งต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) พิจารณา จากนั้นปปช.มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 กับสำนวนรถและเรือดับเพลิงฯที่มี นายวิชา มหาคุณ เป็นประธานอนุฯสอบสวน โดยผู้ร่วมกระทำผิดในคดีนี้มีชื่อนายอภิรักษ์พ่วงอยู่ด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook