นายกฯเฟซบุ๊กยันแก้รธน.ไร้รุนแรงปูทางลต.

นายกฯเฟซบุ๊กยันแก้รธน.ไร้รุนแรงปูทางลต.

นายกฯเฟซบุ๊กยันแก้รธน.ไร้รุนแรงปูทางลต.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหา ว่า

ปรับความสมดุลให้ประเทศ คืนความเป็นปรกติสุขสู่สังคมไทย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ3 ธันวาคม 2533


ตลอดการบริหารงานเกือบสองปีที่ผ่านมา ผมต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายในหลายด้าน ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ และความขัดแย้งภายในประเทศ จนอดรู้สึกไม่ได้ว่า 2 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็น 2 ปีที่ยาวนานที่สุดในชีวิต ผมต้องผ่านการตัดสินใจที่ยากลำบากหลายครั้ง แต่ผมไม่เคยท้อเพราะเป็นผู้อาสาเข้ามาทำงานให้กับประชาชน มีภาระที่ต้องรับผิดชอบต่อผืนแผ่นดินนี้ จึงต้องเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเต็มความสามารถ

ผมเข้าใจดีว่าการตัดสินใจหลายครั้งไม่ง่ายที่จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ถ่างรอยร้าวทำให้บ้านเมืองเกิดความแตกแยกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในฐานะนักการเมืองผมอดรู้สึกผิดไม่ได้ที่พวกเราคือส่วนหนึ่งของปัญหาจนส่งผลกระทบต่อศรัทธาที่ประชาชนมีต่อการเมือง แต่นักการเมือง ก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งในสังคมนี้ เมื่อเราคิดที่จะสร้างความปรองดองในประเทศเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด นักการเมืองก็ย่อมอยู่ในกลุ่มที่เราต้องรับฟังด้วยเช่นเดียวกัน

ความขัดแย้งหลักของฝ่ายการเมืองเกิดจากความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมีฝ่ายหนึ่งตั้งข้อรังเกียจที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ามาจากการทำรัฐประหาร แต่ในขณะเดียวกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็ผ่านการทำประชามติจากประชาชน

เมื่อถกเถียงกันก็ไม่เคยได้ข้อยุติ ประเด็นรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นปมความขัดแย้งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่าเราคงไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพอใจ แต่การให้ประเทศเดินหน้าสิ่งสำคัญคือต้องค่อย ๆ คลายปมปัญหาไปทีละเปลาะ และพิจารณาในสิ่งที่มีเหตุผล มีความเป็นไปได้ ไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย และไม่มีประโยชน์ทับซ้อนของฝ่ายการเมือง ด้วยการนำปัญหาเข้าสู่ระบบแก้ไขด้วยกระบวนการทางรัฐสภาเพื่อยืนยันว่ากระบวนการทางรัฐสภาเป็นหลักให้กับบ้านเมืองได้ หลังจากที่ถูกทำให้อ่อนแอมาเป็นเวลานานหลายปี

ถ้าคิดแบบง่ายที่สุด ผมก็ไม่ต้องทำอะไรเลยในประเด็นนี้ ไม่ต้องถูกโจมตีว่าละทิ้งอุดมการณ์เพื่อรักษาอำนาจทางการเมือง ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วการตัดสินใจเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งมาตรา 190 และ เรื่องของระบบเลือกตั้ง ไม่มีเรื่องประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีส่วนใดทำให้ชาติเสียหาย แต่ผมพยายามที่จะสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้โดยไม่เกิดวิกฤติหากไม่มีการสอดไส้ประโยชน์ของฝ่ายการเมือง และกลไกการแก้ปัญหาก็คือรัฐสภา ไม่ใช่การฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งด้วยอำนาจนอกระบบ

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐมนตรีเสนอตามผลการศึกษาของคณะกรรมการชุดอาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาวาระแรกไปแล้ว ผมไม่ถือว่าเป็นชัยชนะของรัฐบาล แต่เห็นว่าเป็นก้าวแรกที่อยากให้สังคมไทยได้เรียนรู้ร่วมกันเพื่อปรับสมดุลให้กับประเทศเป็นจุดเริ่มต้นคืนความสงบสู่สังคมไทย

การเรียนรู้ที่ว่าคือฝ่ายการเมืองได้ตระหนักมากขึ้นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำตามอำเภอใจโดยคิดแต่เพียงความต้องการของฝ่ายการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีบทพิสูจน์มาแล้วว่าเมื่อไหร่ที่ฝ่ายการเมืองคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองประชาชนจะออกมาต่อต้านและการแก้ไขรัฐธรรมนูญนอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จแล้วยังก่อให้เกิดวิกฤติความขัดแย้งรุนแรงด้วย

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าแม้หลายพรรคการเมืองจะมีความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เกี่ยวกับเรื่องการยุบพรรค ก็ยังต้องยับยั้งชั่งใจหยุดตัวเองไว้แค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และ เรื่องระบบเลือกตั้งเท่านั้น เพราะสามารถชี้แจงกับสังคมได้เต็มปากเต็มคำว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งหากพิจารณาในมิตินี้จะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองก็ยอมถอยลดความต้องการของตัวเองลงเพื่อไม่สร้างปัญหาให้กับประเทศชาติ

และแม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงสองประเด็น พรรคประชาธิปัตย์ก็มีจุดยืนชัดเจนว่าเราไม่สนับสนุนจึงเป็นที่มาของมติไม่แก้รัฐธรรมนูญ ถ้าหากผมเกรงกลัวหรือต้องการเอาใจพรรคร่วมรัฐบาลหรือถูกบีบอย่างที่มีการกล่าวหา ผมและพรรคประชาธิปัตย์ก็คงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปตั้งแต่ในคราวที่มีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาไปแล้ว และคงลงมติสนับสนุนร่างของพรรคร่วมในครั้งนี้ซึ่งเราก็ไม่ทำแม้จะรู้ดีว่าอาจทำให้การอยู่ร่วมกันมีความยากลำบากมากขึ้น

แต่กรณีของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และเรื่องระบบเลือกตั้งของรัฐบาลที่ผมเสนอนั้น เราต้องดูถึงที่มาของเรื่องนี้ก็จะเกิดความเข้าใจมากขึ้น จุดเริ่มต้นในการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 เกิดจากวิกฤติช่วงที่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมบุกล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยา จนรัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นำไปสู่การควบคุมสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ และมีการนำประเด็นที่เกิดขึ้นมาร่วมกันหาทางออกในรัฐสภา จนมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างวุฒิสภา รัฐบาล และฝ่ายค้าน ซึ่งมีคุณดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน ได้ข้อสรุปสำหรับการแก้ปัญหาในส่วนหนึ่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 มาตรา โดยผมเห็นว่าถ้าจะดำเนินการดังกล่าวก็ควรจะให้มีการทำประชามติ เนื่องจากมีหลายประเด็นอ่อนไหวต่อความขัดแย้ง เช่น มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคการเมือง แต่กระบวนการดังกล่าวก็เดินหน้าต่อไม่ได้เพราะฝ่ายค้านปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในภายหลัง

ต่อมาเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียช่วงเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา ผมเสนอแผนปรองดอง 5 ข้อ มีการตั้งคณะกรรมการหลายชุดเพื่อเดินหน้านำประเทศเข้าสู่ความปรองดอง คณะกรรมการชุดของอาจารย์สมบัติเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ผมตั้งขึ้นตามแผนปรองดอง เมื่อเขาได้ข้อสรุปและเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 มาตรา ผมก็ยังเลือกเฉพาะประเด็นที่คิดว่าไม่น่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งมาดำเนินการเพียง 2 มาตรา ก็คือ 190 และ ระบบเลือกตั้ง โดยไม่มีการทำประชามติ ไม่ใช่เพราะไม่เห็นความสำคัญกับเสียงของประชาชน แต่เห็นเป็นประเด็นที่ไม่ทำให้ชาติเสียประโยชน์และไม่น่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มเติมก็น่าจะเดินหน้าไปได้ด้วยกลไกของรัฐสภา

ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดของอาจารย์สมบัติ ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากร่างของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะการลดจำนวน ส.ส.เขตและเพิ่ม ส.ส.สัดส่วน ดังนั้นจึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งที่จะกล่าวหาว่าผมและพรรคประชาธิปัตย์ ทิ้งอุดมการณ์เพื่อเอาใจพรรคร่วมรัฐบาล

ผมเองก็เจ็บปวดไม่แพ้หลายคนในพรรคที่เชื่อว่าระบบเขตใหญ่จะเป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตยมากกว่า แต่เมื่อมีการศึกษาจากคนกลางที่ผมเป็นคนตั้งขึ้นเองสรุปว่า การเลือกตั้งในระบบเขตเดียวเบอร์เดียวจะทำให้ส.ส.ทำงานใกล้ชิดประชาชนได้มากกว่า และประชาชนก็จะมีความเสมอภาคในการเลือกผู้แทน แล้วผมจะยึดถือเอาความต้องการของตัวเองเป็นหลัก โดยไม่รับฟังผลการทำงานของคณะกรรมการที่ตัวเองตั้งขึ้นได้อย่างไร

นี่คือที่มาของการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภา ขณะเดียวกันผมก็คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการคลายปมความขัดแย้งเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คพปร.ที่ค้างวาระการประชุมรัฐสภามานานนับปี เมื่อรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบร่างดังกล่าวก็ตกไปทำให้ความอึมครึมที่มีมาตลอดหมดไปด้วยเช่นเดียวกัน

สิ่งที่ผมดำเนินการนอกจากจะทำเพื่อแก้ปัญหาให้การทำงานของฝ่ายบริหารมีความคล่องตัวมากขึ้น คลายปมปัญหารัฐธรรมนูญที่ฝ่ายการเมืองเรียกร้อง ซี่งต้องบอกว่าแม้แต่พรรคเพื่อไทยเองก็เคยเห็นชอบกับเรื่องของระบบเขตเดียวเบอร์เดียวซึ่งเป็นบทสรุปของคณะกรรมการสามฝ่าย ดังนั้นปมความขัดแย้งนี้จึงถือว่าคลี่คลายไปได้ในระดับหนึ่ง

ส่วนข้อกังวลของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีความเป็นห่วงมาโดยตลอดเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คพปร. วันนี้ก็ยุติลงแล้ว และผมยืนยันชัดเจนมาโดยตลอดแม้ไม่มีการชุมนุมของประชาชน ผมก็ไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คพปร. ที่จะกลายเป็นการนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายการเมือง เป็นจุดยืนที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่ผมอยากให้ภาคประชาชนได้เรียนรู้จากเรื่องนี้คือ คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะได้ตามความต้องการของตัวเองในทุกเรื่อง และการเรียกร้องไม่จำเป็นต้องใช้คนมาก ๆ มากดดัน แต่ข้อเรียกร้องที่มีเหตุผลเป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงต้องนำไปปฏิบัติ นี่คือสิ่งที่ผมพยายามพิสูจน์ให้เห็นเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการบริหารประเทศ

ผมเข้าใจครับว่าหลายคนที่สนับสนุนผมเป็นทุกข์ ผิดหวัง กับการตัดสินใจครั้งนี้ ผมเองก็ต้องหยุดความต้องการของตัวเองโดยมองภาพรวมของประเทศเป็นสำคัญ เพราะผมมีความรับผิดชอบต้องนำชาติเดินไปข้างหน้า ความทุกข์ส่วนตัวไม่สำคัญเท่ากับการปลดเปลื้องความทุกข์ให้กับแผ่นดิน และผมมั่นใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งที่สงบ ไม่มีความรุนแรง จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น

สังคมไทยต้องเติบโตแบบนี้ คือทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ที่จะมีความยับยั้งชั่งใจ ประนีประนอมในส่วนที่จะทำให้ชาติเดินหน้าได้ โดยไม่เสียหลักของบ้านเมืองในการรักษาระบบนิติรัฐและนิติธรรม ที่สำคัญกระบวนการตามระบบต้องแก้ปัญหาได้ไม่ต้องพึ่งวิธีการพิเศษหรืออำนาจนอกระบบ เพราะรังแต่จะซ้ำเติมมปัญหาให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ในฐานะนายกรัฐมนตรี ของคนไทยผมรับฟังข้อเรียกร้องจากคนทุกสีเสื้อ เพราะพวกเขาคือพลเมืองไทย ข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงที่มีเหตุผลผมก็เดินหน้าเต็มที่เพื่อปฏิรูปประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม จัดระบบสวัสดิการที่ประชาชนไม่ต้องเป็นหนี้บุญคุณรัฐ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการขจัดระบบอุปถัมภ์ โดยให้คนไทยได้ตระหนักถึงสิทธิที่ตัวเองพึงได้รับโดยรัฐบาลมีหน้าที่จัดสวัสดิการสร้างหลักประกันให้กับคนไทยทุกคนอย่างยั่งยืน ไม่กระทบกับฐานะทางการเงินการคลัง

ส่วนคนที่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหว สิ่งที่ผมดำเนินการอยู่ก็จะส่งผลให้ทุกคนได้รับประโยชน์ด้วยเช่นเดียวกัน และเมื่อคนไทยมีหลักประกันชีวิตที่ดีเขาก็จะไม่ถูกระบบอุปถัมภ์ครอบงำจนตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง

เหล่านี้คือสิ่งที่ผมเดินหน้าควบคู่ไปกับความพยายามสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองให้ความรับผิดชอบทางการเมืองอยู่สูงกว่ากฎหมาย เป็นความตั้งใจที่จะยกระดับการเมืองไทยให้เป็นที่พึ่งที่หวังของพี่น้องประชาชนได้ ผมรู้ดีครับว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการไปอาจไม่ได้ทั้ง 100 % แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่นักการเมืองอย่างผม อยากบอกประชาชนว่า พวกเราต้องมีความรับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชน โดยใช้หลักเหตุผลมาเป็นตัวกำกับ

ถ้าเราได้เรียนรู้ร่วมกันภายใต้ระบบคิดนี้ ก็จะเป็นการปรับสมดุลให้กับประเทศ ใช้กลไกที่มีอยู่แก้ปัญหาอย่างถูกต้อง เรื่องความผิด ถูก ก็ปล่อยเป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม ส่วนเรื่องใดที่เป็นนโยบายก็เป็นหน้าที่ฝ่ายบริหาร การตรวจสอบเป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระ และปัญหาที่แก้ไขได้ด้วยกลไกของรัฐสภาก็ต้องเดินเข้าสู่ช่องทางนี้

ส่วนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องใส่ใจให้ความสำคัญในประเด็นที่มีเหตุมีผล ซึ่งผมขอย้ำว่าปริมาณไม่มีความสำคัญเท่ากับเนื้อหาข้อเรียกร้องว่ามีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ ในกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะชุมนุม เพื่อขอให้ผมถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและกรอบการเจรจาเจบีซีไทย-กัมพูชา ออกจากการพิจารณาของรัฐสภานั้น ก็สามารถดำเนินการได้ตามกรอบของกฎหมาย

ผมอยากชี้แจงเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในประเด็นที่มีความกังวลเกี่ยวกับมาตรา 190 ผมได้ใช้สิทธิในฐานะ ส.ส.แปรญัตติเรื่องนี้ด้วยตัวเองเพื่อให้เนื้อหาเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนและรัฐสภากลับไปเป็นเหมือนเดิม เป็นการยืนยันว่ารัฐบาลมีเจตนาเพียงแต่ต้องการให้มีความชัดเจนในเรื่องประเภทสัญญาที่ไม่เกี่ยวกับเขตแดนที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 เพื่อให้การบริหารงานมีความคล่องตัวเท่านั้น ไม่ได้เป็นการหมกเม็ด ซ่อนเงื่อน เรื่องอาณาเขต ดินแดน เหมือนที่มีความเข้าใจกันอยู่ในขณะนี้

ผมยังได้ให้คำมั่นต่อสาธารณะผ่านรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกอภิสิทธิ์ไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจได้ว่า ผมจะรับผิดชอบหากคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาไม่มีการแปรญัตติตามที่ผมได้รับปากเอาไว้ ด้วยการขอให้พรรคร่วมรัฐบาลไม่รับหลักการในวาระ 3 เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจของรัฐบาลว่า ไม่ได้มีเจตนาจะเปลี่ยนแปลงหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 190

ส่วนบันทึกการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook