นายกฯโพสต์เฟซบุ๊คปมเขาพระวิหาร

นายกฯโพสต์เฟซบุ๊คปมเขาพระวิหาร

นายกฯโพสต์เฟซบุ๊คปมเขาพระวิหาร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค เรื่อง "ราชอาณาจักรไทยคือสิ่งที่รัฐบาลและคนไทยจะร่วมกันปกป้อง" ว่า

รัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนที่ชัดเจนและไม่เคยเปลี่ยนดั่งที่นายรัฐมนตรีได้เคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งหลายหน "นับตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาบริหารบ้านเมือง ผมในฐานะผู้นำประเทศมีจุดยืนชัดเจนเกี่ยวกับการปกป้องอธิปไตยบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหาร และเดินหน้ารักษาสิทธิของประเทศตามแนวทางที่ผมได้เคยแสดงความกังวลผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในขณะที่ผมเป็นผู้นำฝ่ายค้าน เหตุการณ์ผ่านมาสองปีผมคิดว่าหลายอย่างมีพัฒนาการไปมาก ซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงข้อมูลและการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่แตกต่างไปจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา อาจทำให้บางฝ่ายเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือยังไม่ได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลอย่างชัดเจนจนอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้" ดังนั้นก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาเพื่อตอบคำถามของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ได้จัดทำเอกสารตั้งคำถาม 33 ประเด็น และเปรียบเทียบ 20 จุดยืนระหว่างรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ขอย้ำถึงแนวทางการทำงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารโดยยึด 3 นโยบายและ 7 หลักคิดดังนี้

3 นโยบายรักษาอธิปไตยชาติ
1. ไม่ยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน เวลาที่เราจะพูดถึงแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน คนมักคิดถึงเฉพาะระวางดงรักที่กัมพูชาใช้ในศาลโลก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนมีหลายระวางและไม่ได้เกี่ยวพันเฉพาะกับประเทศกัมพูชาเท่านั้น ในที่นี้ขออธิบายเฉพาะแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนระวางดงรักที่เป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ในเวลานี้ ซึ่งรัฐบาลยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่ยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ระวางดงรัก เหตุผลเพราะว่าในการพิจารณาของศาลโลกได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า แผนที่ระวางนี้ไม่ได้เป็นผลงานของคณะกรรมการผสมระหว่างสยาม-ฝรังเศส ซึ่งในเอ็มโอยู 2543 ระบุไว้ว่าแผนที่ที่จะนำมาใช้จะต้องเป็นผลงานของคณะกรรมการฯ และรัฐบาลเคยทำหนังสือไปถึงรัฐบาลกัมพูชาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551 ยืนยันว่าไทยไม่ยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนในการเจรจาแต่เรายึดหลักสันปันน้ำเหมือนที่เราได้ต่อสู้ที่ศาลโลก

2. ไม่ยอมรับแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชา เรื่องมรดกโลกเราเอาจริงเอาจังในการคัดค้านแผนบริหารจัดการดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติที่แรงมากว่า ถ้าไม่ฟังเรา เราพร้อมถอนตัวจากภาคีมรดกโลก ทำให้เขาจำเป็นต้องเปลี่ยนมติทั้งหมด ซึ่งเราก็ต้องทำความเข้าใจต่อเนื่องว่า เมื่อใดก็ตามที่ทำแล้วมีผลต่ออธิปไตยไทย ไม่ใช่หน้าที่มรดกโลก ไม่ใช่หน้าที่ยูเนสโก นายกรัฐมนตรีได้เคยพูดกับเลขาธิการยูเอ็นเลยว่า "ก่อนผลักดันเป็นมรดกโลก พี่น้องสองฝั่งยังไปเที่ยวได้ ต่อมาเมื่อมีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกก็มีการปะทะกันแสดงว่ายูเนสโกซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมสันติภาพ กำลังเดินผิดทาง และต้องทบทวนเพื่อแก้ไขในสิ่งผิดพลาดที่คณะกรรมการมรดกโลกได้ดำเนินการไป"

ครั้งหลังสุดที่นายกรัฐมนตรีพบกับสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีก็ยืนยันชัดเจนว่าไทยคัดค้านแผนบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าว และจุดยืนนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ให้เป็นนโยบายกับเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการในเรื่องนี้นำไปปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งชี้แจงให้คณะกรรมการมรดกโลกรับทราบและจะใช้กรณีนี้เป็นฐานข้อมูลในการต่อสู้ในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเดือนมิถุนายนเพื่อเดินหน้าคัดค้านแผนบริหารจัดการของกัมพูชาด้วย

3. ไม่ถอนทหารจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ในการหารือกับสมเด็จฮุนเซนนายกรัฐมนตรียืนยันชัดเจนว่าการถอนทหารคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากยังมีปัญหาการรุกล้ำเข้ามาทั้งในเรื่องของชุมชน ตลาดและวัด ซึ่งยังเป็นข้อขัดแย้งกันอยู่ มีการรายงานเบื้องต้นขณะนี้ว่า ชุมชนกับตลาดมีการย้ายออกไปแล้วแต่ยังเหลือวัด ดังนั้นเมื่อยังมีปัญหาที่วัดทหารไทยก็ยังอยู่ในพื้นที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไปแล้วว่าจะไม่มีการถอนทหารจนกว่าพื้นที่ตรงนั้นจะมีความชัดเจนว่า ได้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงปี 2543 ซึ่งนายกรัฐมนตรียังได้พูดกับสมเด็จฮุนเซนด้วยว่ากระบวนการเกี่ยวกับมรดกโลกนั้นเราไม่เห็นด้วยกับการเดินหน้าแต่เห็นว่าควรจะชะลอไว้ก่อนเพื่อหาข้อยุติในเรื่องที่เป็นข้อพิพาทกันอยู่ อันนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีคิดว่าแนวทางที่รัฐบาลใช้การเจรจาจนทำให้เห็นความคืบหน้าในการย้ายชุมชนและตลาดออกไปโดยไม่มีการใช้กำลัง ขณะที่ไทยยังรักษาจุดยืนของตัวเองไว้อย่างชัดเจนย่อมเป็นประโยชน์สำหรับการต่อสู้ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเดือนมิถุนายนปีหน้าด้วย

7 หลักคิดแก้ปัญหาเพื่อบ้านเมือง

1. ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวยึดมั่นในผลประโยชน์ส่วนรวม ตลอดชีวิตการเมืองเกือบ 19 ปีของนายกรัฐมนตรี เป็นบทพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นในการอาสาที่จะใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง รัฐบาลไม่มีผลประโยชน์อื่นใดนอกจากผลประโยชน์ของชาติ และนายกรัฐมนตรีได้ตอกย้ำ "และไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะเอาแผ่นดินไทยไปแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์อื่น ถ้าทำเช่นนั้นไม่ใช่แค่ว่าผมไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรี ผมไม่ควรจะอยู่บนผืนแผ่นดินนี้ด้วยซ้ำ"

2. ไม่เปลี่ยนจุดยืน ในสมัยที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภานายอภิสิทธิ์เคยอภิปรายไว้อย่างไร จุดยืนตอนเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิมทุกประการ นายอภิสิทธิ์คัดค้านแถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชาที่รัฐบาลชุดก่อนไปดำเนินการ เมื่อเป็นรัฐบาลก็ได้แจ้งรัฐบาลกัมพูชาแล้วว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นโมฆะ ถัดมาปลายปี 2551 มีการเอากรอบการเจรจา ในการจัดวางกำลังทหารเข้าสู่สภา มีการเอาแผนที่หนึ่งต่อสองแสนแนบท้ายไปด้วย นายอภิสิทธิ์ตอนเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ได้อภิปรายว่า "เราจะไม่ยอมรับกรอบการเจรจา จนกว่าจะมีการเอาแผนที่ออกไป" ในที่สุดกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลขณะนั้นยอมเอาแผนที่ออกไป กรอบการเจรจาปี 2551 จึงไม่มีแผนที่ที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอเข้าไป

3. ไม่เคยกลัวเสียหน้า มีคนกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีไม่ยอมยกเลิกเอ็มโอยู 43 เพราะกลัวเสียหน้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ตอบชัดเจนว่า "ผมคิดว่าเป็นการพูดที่เกินเลยจากข้อเท็จจริงไปมาก เพราะเหตุผลที่ผมยังไม่ยกเลิกเอ็มโอยู 43 ก็เพราะเห็นว่ายังเป็นประโยชน์ในการรักษาสิทธิของประเทศ สิ่งที่กังวลว่าในเอ็มโอยูดังกล่าวไปยึดแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน มากำหนดเขตแดนนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเอ็มโอยู 43 เป็นหลักวิธีการจัดทำเขตแดน ไม่ผูกมัดประเทศไทยในการจัดทำหลักเขตแดน แต่มีหลักสำคัญว่าพื้นที่ปี 2543 เป็นอย่างไร อย่าให้มีการเปลี่ยนแปลง คืออย่าให้มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเข้าไปรุกล้ำเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ โดยจะมีคณะกรรมการมาทำหลักเขตแดน เอาสนธิสัญญามาเป็นหลักยึด คือ หนึ่งหลักสันปันน้ำ สองใช้คำว่าบรรดาแผนที่ที่เป็นงานของคณะกรรมาธิการที่ทำหลักเขตแดนตามสัญญา ล่าสุดกัมพูชาพยายามเอาแผนที่แนบท้ายเข้าไปในกรรมการมรดกโลก รัฐบาลก็เข้าไปคัดค้าน จนมติของกรรมการมรดกโลกให้ไปพิจารณาปีหน้า ผมเคารพความเห็นของบางคนที่ไม่ได้ตีความเอ็มโอยูเหมือนที่ผมและหลายฝ่ายคิด แต่กัมพูชาเสนอในแผนจัดการมรดกโลกล่าสุดว่าเขายังไม่สามารถใช้แผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ได้ เพราะกรรมการทำหลักเขตแดนตามเอ็มโอยู 43 ยังทำงานไม่เสร็จ หมายความว่าการมีเอ็มโอยูทำให้กัมพูชายังใช้แผนที่ไม่ได้และรัฐบาลก็ไม่ยอมรับการใช้แผนที่นี้ ผมจึงคิดว่าเราเห็นต่างกันเท่านั้นเอง ฝ่ายหนึ่งว่าเลิกเอ็มโอยู 43 ดี บางฝ่ายว่าถ้าเลิกเขาจะไปอ้างแผนที่ เพราะไม่มีสนธิสัญญาค้ำอยู่

มันยุติธรรมหรือครับที่จะกล่าวหาผมเพียงเพราะเราเห็นต่างกัน ผมเคยพูดคุยกับตัวแทนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลายครั้ง ยืนยันว่าเจตนาเราตรงกันคือปกป้องอธิปไตยของชาติ ทางไหนดีกว่ากันผมยินดี ผมไม่มีปัญหา ถ้าเลิกแล้วดีกับประเทศไทยผมก็เลิก แต่ถ้าเราถกกันแล้ว ดูกันด้วยเหตุด้วยผลแล้วถ้ามีประโยชน์ก็คงไว้ ทั้งหมดคือผลประโยชน์ของประเทศไทยครับ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ผมจะละทิ้งหลักในการรักษาผลประโยชน์ของบ้านเมืองเพียงเพราะต้องการที่จะรักษาหน้าตัวเอง หรือรักษาหน้าคุณชวน หลีกภัย"

4. ไม่ละเลยที่จะรับฟังความเห็นของคนอื่น เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้แสดงจุดยืนในการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายตามแนวทางของระบอบประชาธิปไตยไว้ดังนี้ "ทุกท่านที่ติดตามการแก้ปัญหาในกรณีปราสาทพระวิหารจะเห็นได้ว่า ผมไม่เคยปฏิเสธที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นกับกลุ่มคนที่มีความห่วงใยต่อประเทศชาติ หลายท่านไม่เห็นด้วยกับวิธีการของผม ผมเข้าใจ และผมยืนยันในความเป็นนักประชาธิปไตยที่ต้องเคารพความเห็นต่าง ผมเพียงแต่อยากให้ข้อคิด วิธีการบรรลุเป้าหมายว่ามีหลายวิธี เราจะเลือกใช้วิธีไหนเวลาใด ต้องเลือกดูสถานการณ์ความเหมาะสม ไม่ใช่ยึดมั่นอยู่วิธีเดียว หรือคิดว่าต้องแก้ด้วยวิธีนี้เท่านั้นเพื่อให้ทุกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สำหรับผมสิ่งที่ดีที่สุดคือทั้งสองประเทศเคารพอธิปไตยซึ่งกันและกัน เป็นเพื่อนบ้านแล้วพี่น้องประชาชนทั้งสองฝั่งสามารถอยู่และสงบสุขพร้อมกัน เราไม่ต้องการให้พี่น้องประชาชนอยู่ในภาวะต้องสู้รบกันไม่จบไม่สิ้น เราไม่ต้องการให้ประเทศที่สามหรือประเทศอื่นมาแทรกแซงบนแผ่นดินของเรา เห็นด้วยไม่เห็นด้วยไม่เป็นไร แต่อย่ากล่าวหาหรือให้ร้ายในเจตนาของกันและกัน เพราะนั่นไม่ใช่ผลดีในการแก้ปัญหา"

5. ไม่ตัดสินใจบนพื้นฐานความเชื่อของตัวเอง หลักความคิดที่ไม่ยึดความคิดตัวเองเป็นใหญ่นั้นนายกรัฐมนตรีได้เคยให้สัมภาษณ์ชัดว่า "การแก้ปัญหาของผมไม่เคยยึดติดอยู่กับความคิดของตัวเองว่าคือความถูกต้องหรือใช้อัตตาของตัวเองเป็นที่ตั้งอย่างที่มีบางคนพยายามกล่าวหา แต่ผมจะรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านและตัดสินใจโดยยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก"

6. ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลชุดนี้จะไม่ใช้หลักของการโฆษณาชวนเชื่อและบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เคยสัมภาษณ์ว่า "หลักคิด ในการแก้ปัญหาของผมจะเน้นเรื่องการให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับประชาชน ใช้วิธีอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ในกรณีปราสาทพระวิหารผมบอกกับประชาชนมาตลอดว่าสภาพปัญหาเป็นอย่างไร และขั้นตอนในการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร ซึ่งผมก็ยึดมั่นและเดินตามแนวทางที่ได้บอกกับประชาชนมาโดยตลอด คือ รักษาสิทธิของประเทศโดยยึดหลักสันติวิธีในการแก้ปัญหา"

7. ไม่กล่าวหาคนอื่น รัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่นิยมกล่าวหาคนอื่นแบบลอยๆ แต่พยายามทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนที่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเนื่องจากได้รับข้อมูลไม่ครบทุกด้าน และเห็นว่าความคิดที่ต่างเป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย หากไม่มีวาระอื่นซ่อนเร้น โดยนายกรัฐมนตรีย้ำจุดยืนนี้ "ผมยอมรับครับว่ามีหลายครั้งที่ผมอยากตอบโต้คนที่บิดเบือนข้อมูลกล่าวหาผมอย่างไม่เป็นธรรม แต่ผมรู้ดีว่ามันไม่มีประโยชน์ที่เราจะใช้คำพูดรุนแรงกล่าวหาซึ่งกันและกันเพียงเพื่อให้เกิดความสะใจหรือระบายอารมณ์ชั่วครู่ชั่วยาม เพราะหน้าที่ของผมคือประคับประคองบ้านเมืองนี้ให้ยึดมั่นที่เหตุและผล และให้ข้อมูลที่เป็นจริงเพื่อให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณตัดสิน ผมเจ็บปวดและไม่สบายใจทุกครั้งที่มีพี่น้องบางส่วนกล่าวหาว่าผมไม่รักชาติ ขายชาติ ผมขอยืนยันครับว่า ผมไม่มีผลประโยชน์อื่นนอกจากผลประโยชน์ชาติ และผมไม่กล่าวหาพี่น้องประชาชนที่เห็นต่าง ตรงกันข้ามผมขอบคุณในความตื่นตัวที่มีความหมายต่อบ้านเมือง แต่ผมก็ต้องตัดสินใจว่าสิ่งใดที่จะรักษาประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากที่สุด ซึ่งอาจจะไม่ใช่วิธีการที่บางฝ่ายเชื่อ แต่ก็ไม่ควรเป็นเรื่องที่เราต้องมาประณามกันและกันเพียงเพราะเราเห็นแตกต่างกัน"

ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเป็นแนวทางในการแก้ปัญหากรณีปราสาทพระวิหารของรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์หวังว่าเอกสารคำชี้แจงนี้จะได้ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจในวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาลมากขึ้น และต่อจากนี้ไปจะเป็นการชี้แจงเกี่ยวกับคำถามของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ได้จัดทำเป็นเอกสารเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากรัฐบาล

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook