เผยพระพุทธรูปอีสานถูกขโมยมากสุด

เผยพระพุทธรูปอีสานถูกขโมยมากสุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 6 ม.ค. นายเขมชาติ เทพไชย รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยถึงสถิติการลักลอบขโมยโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในวัด และโบราณสถาน ทั้งที่ขึ้นทะเบียนเป็นศิลปวัตถุและไม่ขึ้นทะเบียน ตั้งแต่ปี 2540-2551 พบว่า ในเขตจังหวัดภาคอีสานมีการขโมยโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในวัดและโบราณสถานมากที่สุด จำนวน 21 วัด และอีก 2 แห่ง อยู่ในและนอกเขตโบราณสถาน รวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ 382 ชิ้น ส่วนใหญ่อายุราว 60-100 ปีขึ้นไป อาทิพระพุทธรูปแกะสลักไม้ จำนวน 80 องค์ ที่วัดโพธิ์ชัย อ.นาแห้ว จ.เลย พระพุทธรูปทองคำ-ทองสัมฤทธิ์ 70 องค์ ที่ถ้ำวังคำ ภูเขาภูสีฐาน อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ แท่นทองเหลืองรอยพระพุทธบาท 1 แท่น ที่วัดชัยมงคลมุนีวาส อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ หินทรายแกะสลักลายกลีบขนุน 1 ชิ้น ที่วัดสระกำแพงใหญ่ อ.ศรีขรภูมิ ใบเสมา ที่บ้านเสมา อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่วัดกู่คันธนาม อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด บานประตูวัดไชยศรี อ.เมือง จ.ขอนแก่น บานตู้พระธรรมวัดโคกพระ อ.จักราช จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะคันทวยจำนวน 6 ชิ้น ที่วัดศรีฐาน อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด คิดเป็นมูลค่า 700,000 บาท เป็นต้น

นายเขมชาติ กล่าวต่อว่า กรมศิลปากรตั้งข้อสังเกตว่าพระพุทธรูปที่หายไปนั้นเป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านเคารพนับถือ วัดบางแห่งมีการจำลองพระพุทธรูปขึ้นมา พอนำไปวางที่องค์พระประธานไม่นาน พระพุทธรูปองค์จริงจะหายไป มีเพียงบางรายการเท่านั้นที่ได้คืนมา อาจมีการเตรียมการ หรือมีใบสั่งของกลุ่มนักค้าโบราณวัตถุที่มีอยู่หลายกลุ่มในพื้นที่ภาคอีสานและสร้างเครือข่ายไปทั่ว เมื่อขโมยไปแล้ว ตำรวจไม่สามารถจับกุมได้ เพราะโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจะไปอยู่ตามร้านขายศิลปวัตถุตามแหล่งใหญ่ในกรุงเทพฯ หรือตามจังหวัดใหญ่ๆ ตามภาคต่างๆ เช่น จ.อุบลราชธานี จ.ภูเก็ต เป็นต้น หากเป็นศิลปวัตถุที่มีอายุ 1,000 ปีขึ้นไป จะถูกขายไปยังต่างประเทศ เพราะเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ มีจำนวนหลายชิ้นที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในยุโรปและอเมริกา ล่าสุดกรมศิลปากรเพิ่งได้พระพุทธรูปสมัยทวาราวดีอายุกว่า 1,000 ปีกลับคืนมา 1 องค์

นายเขมชาติ กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรติดตามข้อมูลการซื้อขายศิลปวัตถุของชาวต่างชาติ พบว่าปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นมาก จากแต่เดิมซื้อขายกันผ่านวิธีประมูลในห้องประมูล แต่ขณะนี้มีการประมูลและสั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์ชื่อดังของต่างประเทศ มีรูปภาพปรากฏชัดเจน หากใครที่สนใจจะให้ราคาสูง ทั้งนี้คนที่ซื้อจะต้องมีความรู้เรื่องศิลปวัตถุชิ้นนั้น เช่นศิลปะขอมของเพื่อนบ้านซึ่งเป็นคนละกลุ่มที่นิยมสะสมพระพุทธรูปเก่า สำหรับมาตรการปกป้องพระพุทธรูปและโบราณวัตถุของวัด เมื่อมีการขโมยพระพุทธรูป เจ้าอาวาสต้องรีบแจ้งความและประสานไปทางกรมศิลปากรในพื้นที่ให้มาตรวจสอบทันที

ทางวัดควรถ่ายภาพศิลปวัตถุทุกชิ้นที่อยู่ในวัด ให้กับกองบังคับการตำรวจภูธร เพื่อจะตรวจสอบรูปพรรณสัณฐานศิลปวัตถุว่าตรงกับศิลปวัตถุที่หายไปหรือไม่ เจ้าอาวาสต้องไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าที่ทำทีเข้ามาขอตรวจสอบพระพุทธรูป เพราะมักจะมีการแอบอ้างอยู่เสมอ กรมศิลปากรจะให้ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรในพื้นที่รวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้น อีกทั้งจะระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วนราชการ และประชาชนในการปกป้องพระพุทธรูปและโบราณวัตถุ รองอธิบดีกรมศิลป์ กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook