ค้นหาข่าว  
  หน้าแรกข่าว > ราชสำนัก(test)
  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระ
โดย ITV News วัน อาทิตย์ ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 18:37 น.
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐิน

เวลา 16.08 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชพิธี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
ในโอกาสนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ โดยเสด็จในการนี้ด้วย
การทอดกฐิน นับเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมา นับตั้งแต่ประชาชนคนไทย ยอมรับนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ โดยพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงรับเรื่องกฐินขึ้นเป็นพระราชพิธีอย่างหนึ่ง โดยเรียกว่า "กฐินหลวง" และเสด็จพระราชดำเนิน ไปบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐิน หรือบางปี อาจทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ โดยจะมีทั้งหมด 16 วัด ซึ่งในปีนี้เทศกาลกฐินเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม - วันที่ 5 พฤศจิกายน นี้
ส่วนกฐินต้น เกิดจากพระเจ้าแผ่นดิน เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนองค์ ไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดที่มิใช่วัดหลวง ซึ่งกฐินส่วนพระองค์นี้ เป็นที่รู้จักตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปประพาสหัวเมืองต่าง ๆ อย่างไม่เป็นทางการ เรียกว่า ประพาสต้น และเรียกว่าการถวายผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ว่า "กฐินต้น" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เคยเสด็จพระราชดำเนินไปบำเพ็ญพระราชกุศลถวายกฐินต้นหลายครั้ง
นอกจากนี้ยังมีกฐินพระราชทานซึ่งเกิดจาก ประชาชนมีศรัทธาเจริญรอยตามพระราชศรัทธาของพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์จึงได้พระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน ไปยังวัดหลวง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เป็นจำนวนมาก กรมศาสนา จึงทำหน้าที่เป็นผู้เชิญชวนให้กระทรวง ทบวง กรม ตลอดจนคณะบุคคล ที่สมควรรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวายได้
- จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชพิธี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐิน ณวัดวัดบวรนิเวศวิหาร สำหรับการทอดกฐินมีตำนานความเป็นมาในครั้งพุทธกาลว่า มีพระภิกษุ 30 รูป ได้พากันเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่กรุงสาวัตถี ซึ่งเป็นระยะทางไกล และต้องอยู่จำพรรษาระหว่างทาง ขณะเดินทางก็ต้องเผชิญกับฝนตก และโคลนตม อย่างยากลำบาก พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระพุทธานุญาต ให้รับการถวายผ้ากฐินจากพุทธศาสนิกชนได้
ส่วนกฎเกณฑ์ของพระภิกษุที่จะรับกฐินได้ คือวัดแห่งนั้นจะต้องมีพระสงฆ์ อย่างน้อย 5 รูป เพราะจะต้องจัดเป็นผู้รับผ้ากฐิน 1 รูป เหลืออีก 4 รูปจะได้เข้าเป็นองค์คณะสงฆ์ คือมากกว่า 5 รูปขึ้นไปได้ แต่น้อยกว่า 4 รูปไม่ได้ ส่วนพระสงฆ์ที่มีสิทธิรับกฐิน คือพระสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดนั้นครบ 3 เดือน หากวัดดังกล่าวไม่มีพระสงฆ์ตามกฎเกณฑ์ จะนำพระสงฆ์จากวัดอื่นมาสมทบ ก็ได้ แต่พระรูปที่มาสมทบจะไม่มีสิทธิในการรับผ้าและไม่มีสิทธิออกเสียงว่าจะถวายผ้าให้กับรูปใด
พระภิกษุสงฆ์ในพิธีกฐินจะได้รับอานิสงฆ์ ที่กำหนดไว้ในพระวินัย คือสามารถไปที่ใดก็ได้ , ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ ,สามารถฉันคณะโภชน์ได้ และ เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
ส่วนผู้ถวายผ้ากฐินก็จะได้บุญ จากการได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษา ให้ได้นุ่งห่มผ้าใหม่ ได้ชื่อว่าบำรุงพระพุทธศาสนา ทั้งยังก่อให้เกิดความสามัคคี เป็นการร่วมมือกันทำความดี และหากการถวายกฐินนั้นมีส่วนในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัด ก็จะได้ชื่อว่ามีส่วนช่วยรักษาศาสนวัตถุให้ยั่งยืน รวมทั้งเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย
 
อ่านข่าวทั้งหมดของ ITV News ได้ที่นี่
 
 
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ทรงเปิดงานวันปลาสวยงามแห่งชาติ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ พระราชทานพระวโรกาสให้คณะบุคคล เฝ้า
สมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงานวันอาหารโลก
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทอดพระเนตรการแสดง PIANO�
พระราชกรณียกิจ
พระราชกรณียกิจ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ ด้านศัลยกร
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯแทนพระองค์ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน�