|
|
ป.ป.ช.ชี้มูลอดีตทีมที่ปรึกษาทักษิณข้อหาร่ำรวยผิดปกติ |
 |
โดย คม ชัด ลึก วัน ศุกร์ ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2549 15:36 น. |
|
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดอดีตทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจอดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ เตรียมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดี
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.ได้พิจารณาเรื่องการกล่าวหาอดีตอธิบดีในสังกัดกระทรวงการคลังคนหนึ่ง ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งเป็นคดีที่ค้างมานาน และจากการไต่สวนของ ป.ป.ช. สรุปว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติจริงใน 3 กรณี ได้แก่
1. ผู้ถูกกล่าวหาได้รับเงินเป็นเช็ก 6 ฉบับ รวมเป็นเงิน 30 ล้านบาท จากบริษัทแห่งหนึ่งที่ได้รับอนุมัติให้ทำสัญญาพัฒนาที่ราชพัสดุ 2. ภริยาของผู้ถูกกล่าวหาได้รับเงิน 14 ล้านบาท ที่อ้างว่าได้มาจากการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน แต่ภายหลังกลับไม่มีการซื้อขายที่ดินตามที่กล่าวอ้าง 3. จากการไต่สวนปรากฏหลักฐานว่า ผู้ถูกกล่าวหาและภริยามีเงินฝากในสถาบันการเงินอื่น รวม 49 ล้านบาท ซึ่งไม่อาจชี้แจงได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบอย่างใด
ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงมีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ ให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลในคดีนี้ เคยเป็นทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ โดยเรียกรับสินบนรวม 30 ล้านบาท จากบริษัทเอกชน เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการให้ชนะการประมูลโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุ มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท โดยไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจกรรมของรัฐ พ.ศ. 2535 โดยคดีนี้เป็นคดีที่ตกค้างมาจากสมัยที่ยังมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.)
ซึ่งถูกร้องเรียนในความผิด 2 ข้อหา คือ 1. มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ จากการรับสินบน 30 ล้านบาท 2. ข้อหาร่ำรวยผิดปกติ จนกระทั่งมาถึงสมัย ป.ป.ช. ที่มีนางฤดี จิวาลักษณ์ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีนี้ ได้สรุปผลสอบว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดวินัยร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่และรับสินบนกรณีเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน ซึ่ง ป.ป.ช.ชุดใหญ่มีความเห็นตรงตามที่ประธานอนุกรรมการเสนอมา โดยส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไป แต่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเมื่อปี 2544 เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ส่วนข้อหาร่ำรวยผิดปกติยังพิจารณาไม่เสร็จ และตกค้างมาจนถึงปัจจุบัน ในสมัยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. เข้ามาชี้มูลว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติจริง
|
|
|
อ่านข่าวทั้งหมดของ คม ชัด ลึก ได้ที่นี่
 |
|
 |
|